ผาหมอนวันนี้ ที่ผ่านมา และทีท่าสู่อนาคต

หากท่านต้องการคัดลอกข้อมูลบนเว็บไซต์ กรุณาทำการลงทะเบียน หรือเข้าสู่ระบบ

ไฟล์ดาวน์โหลด

ส่วนของสมาชิก กรุณาทำการลงทะเบียน หรือเข้าสู่ระบบ

สำหรับผู้ที่หลงใหลในการท่องเที่ยวแบบสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน “บ้านผาหมอน”คงเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวที่หลายคนน่าจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ด้วยชุมชนมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ประกอบกับชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนรายล้อมไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงามและมีสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ทำให้ชุมชนผาหมอนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากเข้าไปสัมผัสและเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในด้านต่างๆ ที่เป็นต้นทุนสำหรับการท่องเที่ยวของชุมชนแล้ว จุดเด่นของการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาหมอนอีกประการหนึ่งคือระบบการบริหารจัดการ และองค์กรในการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถดำเนินงานบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งชุมชนผาหมอนเป็นชุมชนต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของหน่วยงาน รวมถึงชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  แต่ก่อนที่บ้านผาหมอนจะสามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมดังเช่นในปัจจุบัน คนในชุมชนได้ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเป็นชุมชนทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นการดำเนินการของไกด์จากภายนอกชุมชนโดยที่คนในชุมชนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการแม้แต่น้อย ต่อมาเมื่อชุมชนเห็นว่าการเป็นชุมชนที่ถูกท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อชุมชน คนในชุมชนตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง แต่ด้วยในช่วงนั้นชุมชนยังคงขาดประสบการณ์ในด้านของการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การดำเนินการจัดการท่องเที่ยวในช่วงแรกจึงเป็นไปในลักษณะของการ “ลองผิดลองถูก” ทำให้ชุมชนยังไม่พบรูปแบบของการท่องเที่ยวที่เหมาะสม และต้องล้มเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงนั้นลงไป  อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ต่างๆ ที่ชุมชนได้รับได้เปลี่ยนเป็นบทเรียนที่ทำให้ชุมชนได้รับรู้ถึงจุดเด่นและจุดด้อย รวมถึงทำให้คนในชุมชนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อชุมชนมีโอกาสได้ดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนผาหมอนจึงค้นพบรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสม รวมถึงสามารถพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเองสืบต่อมา

เป็นเวลากว่า 12 ปีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการดำเนินงานวิจัยจนกระทั่งปัจจุบัน ชุมชนผาหมอนได้ดำเนินการจัดการท่องเที่ยวโดยมีพื้นฐานองค์ความรู้จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ชุมชนสามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม  อย่างไรก็ตาม การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกชุมชน และปัจจัยภายในชุมชนเอง  ซึ่งหากชุมชนที่ขาดกระบวนการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การจัดการการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อชุมชนโดยที่ชุมชนไม่รู้ตัว เช่นเดียวกันกับชุมชนบ้านผาหมอน ที่เมื่อกลุ่มท่องเที่ยวมีโอกาสทบทวนการดำเนินงาน และประเมินสถานการณ์การจัดการท่องเที่ยวของตนเองแล้วทำให้พบว่ากลุ่มท่องเที่ยวกำลังประสบกับปัญหาการขาดผู้สืบทอดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน  ด้วยเหตุนี้กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มเยาวชนบ้านผาหมอนจึงได้เลือกใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้พัฒนาโครงการวิจัย “การจัดการความรู้เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวของกลุ่มเยาวชนบ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อให้ทีมวิจัยได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทั้งระบบ รวมถึงศึกษาสถานการณ์การท่องเที่ยวของชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมโดยคนสองรุ่น รวมถึงยังเป็นการสร้างแนวทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้แก่เยาวชนบ้านผาหมอนในอนาคต โดยมีนักวิจัยเป็นกลุ่มเยาวชนบ้านผาหมอนซึ่งได้รับความคาดหวังจากคณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวให้เป็นผู้สืบทอดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนเป็นทีมวิจัยหลัก

หลังจากดำเนินงานวิจัยมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยชุมชนผาหมอนได้จัดกิจกรรม ทดลองท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการวิจัยฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเยาวชนได้ทดลองรับนักท่องเที่ยวจริงโดยใช้โปรแกรมท่องเที่ยวที่ทีมวิจัยร่วมกันออกแบบบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย  โดยกิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจากนักท่องเที่ยวซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานพัฒนาร่วมกับชุมชนผาหมอนมาอย่างยาวนาน ทั้งเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และเทศบาลตำบลบ้านหลวง เข้าร่วมกิจกรรมการทดลองท่องเที่ยวในครั้งนี้อย่างคับคั่ง

รายละเอียดเพื่มเติม
ดาวโหลดเอกสาร เพื่ออ่านต่อ