การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์สไตล์แม่โจ้ -

หากท่านต้องการคัดลอกข้อมูลบนเว็บไซต์ กรุณาทำการลงทะเบียน หรือเข้าสู่ระบบ

ฐานข้อมูลองค์ความรู้ : MJU Wisdom


เนื้อหา
1.การเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

2.พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์

3.การสร้างฟาร์มและโรงเรือนตามมาตรฐาน

4.อาหารและน้ำไก่ไข่อินทรีย์

5.การสุขาภิบาล

6.การจัดการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

7.การทำบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่อินทรีย์

8.ตลาดไข่ไก่อินทรีย์

9.ต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

การเริ่มต้นในการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

 

การพัฒนาพื้นที่เพื่อขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์-ฟาร์มไก่ไข่

การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการปนเปื้อนจากสารเคมี มีแนวป้องกันจากภายนอกโดยธรรมชาติยิ่งดี

การวางผังฟาร์มเพื่อให้การเลี้ยงสัตว์ทำได้สะดวกและถูกต้องตามหลักสูขาภิบาลและมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์

พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์

พันธุ์ไก่ไข่ที่สามารนำมาเลี้ยงในระบบอินทรีย์สามารถใช้พันธุ์ใดก็ได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เลี้ยง ถ้าต้องการเลี้ยงแบบใช้ต้นทุนค่าอาหารต่ำ ให้ผลผลิตได้ดีพอสมควร สามารถเลี้ยงไก่พันธุ์แท้ เช่น ไก่โร๊ดไอร์แลนด์แดง ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีแล้ว หรือถ้าต้องการเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ ก็ต้องเลี้ยงไก่ไข่สายพันทางการค้า เนื่องจากมีการให้ผลผลิตไข่มาก หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี หรือหากต้องการเอกลักษณ์เฉพาะฟาร์มของตนเอง ให้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์แท้สายพันธุ์เลกฮอร์นขาว ซึ่งให้ไข่ที่มีเปลือกสีขาวแตกต่างจากไก่ไข่พันธุ์ทั่วไป

ไก่ไข่พันธุ์ทางการค้า

 

ไก่ไข่พันธุ์เลกฮอร์นขาว

         สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวไก่ไข่ ควรจะได้รับการเลี้ยงดูในระบบอินทรีย์ตั้งแต่แรกเกิด หากหาพันธุ์ไก่ไข่ตามข้อกำหนดไม่ได้ ก็ต้องเลี้ยงในระบบอินทรีย์อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนที่จะรับรองผลผลิตเป็นไข่อินทรีย์ได้ หากเป็นการซื้อไก่ไข่รุ่น (อายุ 17 สัปดาห์) มาเลี้ยงตามข้อกำหนดดังกล่าว (6 สัปดาห์ จึงจะถือได้ว่าผลผลิตไข่มาจากระบบอินทรีย์) กว่าไก่จะให้ผลผลิตได้มาก ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 สัปดาห์ ช่วงหลังจากนี้ ก็จะลงช่วงเวลาที่นับได้ว่าเป็นไข่อินทรีย์พอดี

ราคาพันธุ์ไก่ไข่ทางการค้า ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ซื้อและระยะทางการขนส่ง โดยทั่วไป มีราคาอยู่ระหว่าง 190-220 บาท ติดต่อซื้อได้ตามร้านค้าอาหารสัตว์ในพื้นที่ โดยทางร้านจะจองผ่านทางเอเย่นต์ขายไก่ไข่อีกทอดหนึ่ง หากต้องการเลี้ยงไก่พันธุ์แท้ สามารถติดต่อได้ตามศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ที่มีพันธกิจในการผลิตพันธุ์สัตว์ปีกบริการให้กับเกษตรกร หรือตามช่องทางออนไลน์ ซึ่งมักจะมีราคาแพงกว่าซื้อจากหน่วยงานราชการ

 

3.การสร้างฟาร์มและโรงเรือนตามมาตรฐาน

                การสร้างโรงเรือนไก่ไข่ โดยขนาดของโรงเรือนต้องคำนวณจากจำนวนสัตว์ที่ต้องการเลี้ยงให้ได้ตามมาตรฐานของไก่ไข่อินทรีย์ที่กำหนดขนาดของพื้นที่ภายในโรงเรือน 1 ตารางเมตรต่อไก่ 4 ตัว สำหรับพื้นที่ปล่อยซึ่งอยู่ภายนอกโรงเรือนต้องมีพื้นที่สำหรับไก่ 1 ตัว อย่างน้อย 4 ตารางเมตร และควรทำรั้วล้อมพื้นที่เลี้ยงเพื่อป้องกันศัตรูตามธรรมชาติ และการแพร่กระจายของโรคจากพาหะชนิดต่างๆ

                ในตัวอย่างเป็นโรงเรือนขนาด 4 * 10 เมตร เลี้ยงไก่ไข่ได้ 150-160 ตัว ภานยในโรงเรือนมีรังไข่ และคอนสำหรับให้ไก่นอนในเวลากลางคืน มีพื้นที่ปล่อยขนาด 2 งาน หรือ 800 ตารางเมตร ซึ่งเพียงพอต่อการเลี้ยงไก่ไข่จำนวนดังกล่าว พื้นที่ล้อมรอบด้วยรั้วตาข่าย มีต้นทุน

 

ลักษณะภายนอกโรงเรือนไก่ไข่

ลักษณะภายในโรงเรือน

 

พื้นที่เลี้ยงปล่อยภายในรั้วตาข่ายลวดถัก

 

 

4.อาหารและน้ำไก่ไข่อินทรีย์

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ มีข้อกำหนดขั้นต่ำ คือ อาหารต้องประกอบด้วยวัตถุดิบที่ผลิตจากระบบอินทรีย์อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุแห้ง ห้ามใช้สารสังเคราะห์เติมลงในอาหาร ต้องมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่มักจะมาจากพืชที่ในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น ปลายข้าว รำ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กระถิน ส่วนวัตถุดิบชนิดอื่นที่ไม่ได้มาจากระบบอินทรีย์ ได้แก่ ปลาป่น หินเกล็ด ไดแคลเซียมฟอสเฟต เป็นต้น โดยต้องคำนวณสูตรอาหารให้ตรงกับความต้องการของไก่ไข่สายพันธุ์ที่เลี้ยง

ตัวอย่างสูตรอาหารสำหรับไก่ไข่ที่เลี้ยงในฟาร์มของมหาวิทยาลัย

วัตถุดิบ

ปริมาณ (%)

ไก่เลกฮอร์นขาว

ไก่ไข่การค้า

ปลายข้าวอินทรีย์

64.50

46.00

ถั่วเหลืองไขมันเต็ม (อินทรีย์)

19.78

35.00

ปลาป่น

6.10

6.50

น้ำมันพืช

-

2.40

หินเกล็ด

9.17

8.80

ไดแคลเซียมฟอสเฟต

0.10

0.95

เกลือ

0.35

0.35

รวม

100

100

Nutrient Calculation

Dry Matter

89.76

90.83

Crude protein, %

15.28

18.64

ME, kcal/kg

2,921

2,741

Calcium, %

4.07

4.09

Avail. Phosphorus, %

0.30

0.42

Sodium, %

0.14

0.13

Chloride, %

0.21

0.20

 

 

 

5.การสุขาภิบาล

นอกจากการที่ต้องแยกพื้นที่เลี้ยงไก่ออกจากที่อยู่อาศัยและมีรั้วล้อมรอบ แล้ว การจัดการระบบสุขาภิบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในพื้นเลี้ยงก็เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่จำเป็นต้องมีภายในพื้นที่เลี้ยงไก่ คือ 1) คอกสำหรับแยกไก่ป่วยจากไก่ปกติ 2) อ่างน้ำยาจุ่มเท้าก่อนเข้าฟาร์มที่ใช้ยาลฆ่าเชื้อที่ได้รับอนุญาต หรือใช้น้ำส้มควันไม้ก็ได้ 3) มีอ่างล้างมือ และ 4) บ่อสำหรับทิ้งซากไก่ที่ลึกอย่างน้อย 1.5 เมตร มีหลังคาครอบ และมีรั้วป้องกันสัตว์อื่นเข้าในบริเวณบ่อทิ้งซาก

รั้วและคอกพักแยกไก่ป่วย

อ่างน้ำยาจุ่มเท้าและอ่างล้างมือ

 

บ่อทิ้งซากไก่ตาย พร้อมฝาปิด

 

การดูแลสุขภาพไก่ นิยมใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรบดผสมในอาหารให้ไก่กินเพื่อการป้องกันโรคหรือรักษาอาการหวัด หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องมีระยะเวลาปรับเปลี่ยนก่อนที่จะนำผลผลิตมาขายเป็นไข่อินทรีย์อีกครั้งอย่างน้อย 6 สัปดาห์

 

6.การจัดการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

การจัดการเลี้ยงดูไก่ไข่อินทรีย์ ต้องจัดการให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ คือ ไก่ต้องปราศจากสิ่งเหล่านี้ 1) ความหิวและกระหาย 2) ความกลัวหรือความกังวลใจ และ 3 ) ความเจ็บปวดหรือความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค นอกจากนี้ ไก่ต้องได้รับความสะดวกสาย และได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติด้วย ดังนั้น ในการจัดการเลี้ยงดูจึงต้องให้ไก่ได้รับอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ ปล่อยไก่ให้ออกนอกโรงเรือนหลังจากไก่วางไข่และได้รับอาหารในตอนเช้า โดยทั่วไป สามารถปล่อยไก่ออกนอกโรงเรือนได้ คือ หลังจาก 10.00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้ไก่บางตัวออกวางไข่นอกโรงเรือน และเมื่อถึงช่วงเวลาเย็นก่อนที่จะมืด ควรให้อาหารไก่อีกครั้ง เพื่อให้ไก่ได้มีเวลากินอาหารก่อนมืด และได้จัดหาที่นอนบนคอนตามพฤติกรรมธรระมชาติ

เพื่อป้องกันไก่ไม่ให้เข้าไปนอนในรังไข่ และถ่ายมูลในรังไข่ ซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตไข่สกปรก จึงควรหัดให้ไก่รู้จักที่นอนและที่ไข่ โดยเมื่อนำไก่สาวเข้ามาเลี้ยงใหม่ๆ ด้องขึงตาข่ายปิดส่วนที่เป็นรังไข่ เพื่อป้องกันไก่เข้าไปนอนในช่วงเย็นไก่จะมานอนบนคอนที่เตรียมไว้ให้ และในตอนเช้า ให้เปิดตาข่ายออก เพื่อให้ไก่เข้าไปทำความคุ้นเคยกับรังไข่ก่อนจะเริ่มวางไข่ ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นระยเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น ไก่จะมีปรับตัว ความคุ้นเคยกับพื้นที่ต่างๆในโรงเรือนเอง

 

 

7.การทำบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่อินทรีย์

ในการบรรจุผลผลิตไข่อินทรีย์เพื่อจัดจำหน่าย จะต้องทำในบริเวณที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งไม่พึงประสงค์ หรือมีสิ่งพาหะนำโรค เช่น หนู นก และแมลง ควรบรรจุในหีบห่อที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ในการเก็บรักษาและขนส่ง ควรรักษาความเป็นผลิตผลอินทรีย์ด้วย โดยการไม่นำไปปนกับผลิตภัณฑ์ทีไม่ใช่อินทรีย์ หรืออยู่ใกล้สารเคมีใดๆ บรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้บรรจุไข่ไก่อินทรีย์ คือกล่องกระดาษที่มีขนาดบรรจุ 6 และ 10 ฟอง การติดฉลากและการกล่าวอ้างผลผลิตไข่อินทรีย์ ต้องได้รับการตรวจและอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ก่อน จึงจะนำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ได้

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ของฟาร์มมหาวิทยาลัย

 

8.ตลาดไข่ไก่อินทรีย์

การจัดจำหน่ายไข่อินทรีย์ สามารถจำหน่ายได้หลายช่องทาง ทั้งในตลาดของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ หรือซูเปอร์มาร์เกต โดยฟาร์มมหาวิทยาลัยส่งไข่ไปจำหน่ายยังริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ มีต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งดังนี้

  1. ค่ากล่องกระดาษขนาด 10 ฟอง ราคากล่องละ 5.00
  2. ค่ากล่องกระดาษขนาด 6 ฟอง ราคากล่องละ 4.00 บาท
  3. ค่าขนส่ง จำนวน 240 ฟอง เป็นเงิน 200 บาท เฉลี่ยฟองละ 0.83 บาท

 

ราคาขายส่งไข่ให้กับริมปิง ซูเปอร์มาเก็ต

ขนาด 10 ฟอง ไซส์ M กล่องละ 81 บาท

ขนาด 10 ฟอง ไซส์ S กล่องละ 76 บาท

ขนาด 6 ฟอง ไซส์ M กล่องละ 49 บาท

ขนาด 6 ฟอง ไซส์ S กล่องละ 46 บาท

9.ต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์

จากการเก็บข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ขนาด 150 ตัวของฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ปี 252-2563 มีรายละเอียดดังด่อไปนี้

ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนครั้งแรก

  1. ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือน ขนาด 4 * 10 เมตร ประมาณ 22,000 บาท
  2. ต้นทุนค่ารั้วตาข่ายลวดถัก พร้อมเสา ความยาวรอบพื้นที่เลี้ยง 120 เมตร ประมาณ 10,000 บาท
  3. ค่าอุปกรณ์การเลี้ยง เช่น รถเข็นอาหาร อุปกรณ์ให้อาหารและน้ำ ประมาณ 5,800 บาท

 

ต้นทุนผันแปรระหว่างการเลี้ยง

  1. ค่าพันธุ์ไก่ทางการค้า ละ 175 บาท
  2. ค่าอาหารไก่ประมาณ 18.75 บาทต่อกิโลกรัม
  3. ค่าแรงงานเลี้ยงไก่ 182 บาทต่อตัวต่อ 52 สัปดาห์
  4. ค่าน้ำและไฟฟ้า 80 บาทต่อตัวต่อ 52 สัปดาห์

 

ผลการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ระยะเวลา 1 ปี

  1. ผลผลิตไข่ตลอดอายุการเลี้ยง 205 ฟอง/ตัว (55 เปอร์เซ็นต์)
  2. ราคาขายผลผลิตไข่ 7 บาทต่อฟอง
  3. ขายมูลไก่ 3 ครั้ง ๆ ละ 500 บาท
  4. ขายไก่ปลด เฉลี่ยตัวละ 77 บาท

 

ต้นทุนและผลตอบแทนกรณีศึกษาการเลี้ยงไก่ไข่ 150 ตัว

ต้นทุนการเลี้ยง

  1. ค่าเสื่อมโรงเรือนและรั้ว คิดจากอายุการใช้งาน 10 ปี มีต้นทุนเฉลี่ย ปีละ 3,200 บาท
  2. ค่าเสื่อมอุปกรณ์การเลี้ยง คิดจาอายุการใช้งาน 5 ปี มีต้นทุนเฉลี่ย ปีละ 1160 บาท
  3. ค่าพันธุ์ไก่ 150 ตัว ๆ 175 บาท เป็นเงิน 26,250 บาท
  4. ค่าอาหารตลอดการเลี้ยง 112,613บาท
  5. ค่าแรงงานเลี้ยงไก่ 27,300 บาท
  6. ค่าน้ำและไฟฟ้า 12,000 บาท

รวมต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ต่อปีจำนวน 150 ตัว เท่ากับ 182,523 บาท คิดเฉลี่ยต่อตัว 1,216 บาท

 

ผลตอบแทนจากการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ จำนวน 150 ตัว

  1. อัตราการตายตลอดการเลี้ยง 15 เปอร์เซ็นต์
  2. ได้ผลผลิตไข่จำนวน 28,105 ฟอง ขายฟองละ 7 บาท เป็นเงิน 196,735 บาท
  3. ขายมูลไก่ 3 ครั้ง ๆ ละ 500 บาท เป็นเงิน 1,500 บาท
  4. ขายไก่ปลด จำนวน 123 ตัว ๆ ละ 77 บาท เป็นเงิน 9,471 บาท

รวมรายได้ตลอดการเลี้ยง 207,706 บาท

ได้ผผลตอบแทนจากการเลี้ยง 25,184 บาท



แกลลอรี่ภาพ

ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ

ชื่อ-สกุล : Malaithong

สังกัด : สาขาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์

  

ความเชี่ยวชาญ :

หลักสูตรออนไลน์ : -

หนังสือ : -

วิจัย/บทความ : -


ความรู้ที่เกี่ยวข้อง